มีโอกาสได้พูดคุยกับ กับ อ.พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอความรู้และขอปรึกษาเรื่องการทำข่าวสืบสวนจากข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ในยุค 4.0 ทำให้เห็นบริบทสังคมไทยที่แตกต่างจากยุคก่อนได้อย่างชัดเจน
ย้อนหลังไปใครที่เป็นนักข่าวอยู่ในช่วงราวปี 2555-2560 ยุคผู้ว่าฯ พิศิษฐ์ย่อมทราบดีว่าฝีมือการให้ข่าวความคืบหน้าเรื่องคดีที่ สตง.กำลังตรวจสอบ หรือมีเรื่องที่ร้องเรียนเรื่องใดที่เข้ามาที่สตง.การถามกับผู้ว่าฯ พิศิษฐ์ ย่อมได้ข่าวใหญ่ ข่าวคืบหน้า รวมถึงข้อความรู้ทางคดีความต่างๆที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบในเชิงป้องปรามได้เป็นอย่างดี

แต่ล่าสุด ปี 2562 อ.พิศิษฐ์ ได้บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าไม่สบายใจนักว่า วันนี้ใครก็ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ?! เหตุผลก็เพราะกฎหมายแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ “ไม่อนุญาต” และ “ไม่เอื้ออำนวย” ให้มีการให้ข่าวสำนวนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ สอบสวนใดๆของ ปปช.หรือ สตง. โดยผู้ให้ข้อมูลอาจต้องโทษความผิด ทั้งจำ และ/หรือปรับ ดังกฎหมาย 2 ฉบับนี้
กฎหมาย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ระบุถึงการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงเบื้องต้น หรือที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไว้ใน มาตรา 180 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
เช่นเดียวกับความที่ปรากฎในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 104 ที่ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบที่เสร็จสิ้นแล้วโดยไม่ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการเปิดเผยตามมาตรา 56 หรือเป็นการเปิดเผยต่อศาล พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่ต้องดําเนินการตามผลการตรวจสอบของสํานักงาน หรือตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือเป็นการกระทําตามหน้าที่ราชการ
อย่าได้แปลกใจ ที่ในยุคนี้ที่เราจะเห็นการ “เงียบ” ของหลายหน่วยงานองค์กรอิสระ ที่จะไม่ให้ข้อมูลคดีความคืบหน้าใดๆมากนัก ในเรื่องที่เกิดการร้องเรียนหรือตรวจสอบ เพื่อสร้างให้เกิดการตื่นรู้ของประชาชน เพื่อให้เกิดการ “ป้องปราม”และสนใจข่าวสารว่าด้วยทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น
ปัญหาการป้องกันและปราบปรามทุจริต จึงกลายเป็นงานโหดหินขึ้นทุกที ถ้าเปรียบเป็นมะเร็ง ก็หมายความว่า ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามทำร้ายร่างกาย ระยะสุดท้าย เราจึงให้ข่าวหรือบอกเล่าข้อสรุป บทลงโทษได้
หรือบางทีกฎหมายก็มิอาจจะเอื้อมมือไปลงโทษใดๆได้ เพราะระดับหลักฐานสาวไปไม่ถึง
แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะระบุไว้ในมาตรา 63 มาตรา ความว่า
“รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
จะเห็นได้ว่า คำว่า “ความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น สามารถถูกตีความโดยกว้างและโดยแคบในบัญญัติแห่งกฎหมายเดียวกัน ในเวลาเดียวกันได้
ทั้งหมดนี้จึงไม่มีคำตอบและทางออกใดๆ นอกจากการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของสื่อและการนำเสนอข่าวที่มีข้อจำกัดรอบด้านในเช่นปัจจุบัน
“การจำนน” หรือ “หาทางออก” จึงมีค่าและมีความหมายต่อการกระทำของคนในสังคมนับจากนี้

28 กันยายน 2562 ที่ DTAC จามจุรีสแควร์
สนใจอ่านเนื้อหาฉบับเต็มเพิ่มเติมคลิก >>> ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น !?
อ่านข่าว จาก Manager Online เบื้องหลังการทำงาน เป็นทีมบุกเบิก Data Journalism ข่าวการเมือง
อ่านข่าว ที่เว็บไซต์ ibusiness นำไปขยายประเด็น และเผยแพร่ต่อ เจาะขุมทรัพย์ อปท. 6 แสนล้าน ก่อนชิงดำเลือกตั้งท้องถิ่น
อ่านข่าว สรุปประเด็นโดยย่อจาก TDJ: Thailand Data Journalism Network ในหัวข้อ ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?
อ่านข่าว Press Release จาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) นำเสนอรวมบรรยากาศ “เปิด 5 ผลงานเด่น นักข่าว Data Journalism Network (TDJ) ประเทศไทย